วันที่ 10 ต.ค. นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.64 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 37.72 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.21 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.2 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.92 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น
สำหรับผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.0 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน
เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.5 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้ อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 6.5
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงาน จำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จ พบว่า ผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนสูงสุดคือ 1.73 แสนคน (อัตราการว่างงานร้อยละ 2.2) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 8.4 หมื่นคน (ร้อยละ 1.3) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.7 หมื่นคน (ร้อยละ 1.2) ระดับประถมศึกษา 4.2 หมื่นคน (ร้อยละ 0.5)
และไม่มีการศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา 9.0 พันคน (ร้อยละ 0.1) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า ผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 2.0 หมื่นคน ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลง 3.0 พันคน ในขณะที่ระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น 2.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 4.0 พันคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน